ตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงานควรทำการตรวจสอบเมื่อไหร่ถึงจะปลอดภัย

ตรวจสอบระบบไฟฟ้า

เมื่อไหร่ ? ที่เราควรจะตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงาน

ปัจจุบันสถานประกอบกิจการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น เพราะกฎหมายด้านความปลอดภัยเข้มงวดมากขึ้นจากอดีต ทำให้ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับสถานประกอบกิจการ ไม่ว่าจะเป็น

  • เรื่องความปลอดภัยในการทำงานกับปั้นจั่น
  • ความปลอดภัยในการทำงานอับอากาศ
  • หรือแม้แต่ความปลอดภัยในการทำงานกับไฟฟ้า

เนื่องจากระบบไฟฟ้าเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการประกอบธุรกิจ เพราะหากระบบไฟฟ้าโรงงานเกิดบัญหา อาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก หรืออาจทำให้ต้องปิดกิจการได้

เราคงเคยเห็นข่าวมากมาย เกี่ยวกับไฟไหม้ และเมื่อสรุปออกมา ส่วนใหญ่มักจะพบว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งจากข่าวที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ระบบไฟฟ้ามีความสำคัญมาก สำหรับทุกสถานที่ เพราะหากเกิดไฟไหม้ขึ้นแล้ว ย่อมทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการป้องการความสูญเสียที่เกิดจากระบบไฟฟ้า จึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

 

Checking electric

 

การตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงาน หมายถึงอะไร

ตามกฎกระทรวงกำหนด มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงานพ.ศ. 2550 ได้ให้ความหมายไว้ว่า

การตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงาน” หมายความว่า การตรวจสอบ การทดสอบ การตรวจทดสอบ การศึกษาหรือค้นคว้า การวิเคราะห์ การหาข้อมูลหรือสถิติต่างๆ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์หรือเป็นประโยชน์ ประกอบการพิจารณาด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการผลิต การส่งหรือเพื่อส่ง การจ่ายหรือเพื่อจ่าย การใช้หรือการซ่อมระบบไฟฟ้าในโรงงาน

ทำไมต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงาน

            การตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงาน เป็นสิ่งที่จำเป็นลำดับต้นๆ ของการประกอบกิจการ นอกจากไฟฟ้าจะมีประโยชน์อย่างมากแล้ว ก็มีอันตรายด้วยเช่นกัน เนื่องจากไฟโรงงานมักมีกระแสที่มากกว่าไฟบ้าน เวลาที่เกิดอุบัติเหตุมักจะมีความรุนแรง เพื่อความปลอดภัยจึงมีกฎหมายออกมากำหนดเรื่องการตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตามรายละเอียดด้านล่างนี้

  • กฎกระทรวงกำหนด มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงานพ.ศ. 2550

ข้อ 5 ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงานและรับรองความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงงานเป็นประจำทุกปีโดยวิศวกรหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด โดยการตรวจสอบและรับรองดังกล่าวต้องจัดให้มีเอกสารเป็นหลักฐาน

  • กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558

ข้อ 12 นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสอบและจัดให้มีการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าเพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และให้บุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 หรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 แล้วแต่กรณี เป็นผู้จัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองไว้ เพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ

  • ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า

ข้อ 2 ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสอบและจัดให้มีการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าของสถานประกอบกิจการเพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งและจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า ตามแบบท้ายประกาศนี้

กรณีนายจ้างได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยมีวิศวกรไฟฟ้าเป็นผู้บันทึกผลการตรวจสอบให้ถือว่าเป็นการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าตามประกาศฉบับนี้

ข้อ 3 ให้นายจ้างแจ้งผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตรวจสอบ

 

Electrician,Installing

 

ควรทำการตรวจสอบเมื่อไหร่ถึงจะปลอดภัย

จากข้อกำหนดของกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ระบุไว้ว่าต้องมีการตรวจสอบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งโดยบุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 หรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย

อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งการตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงาน ปัจจุบันมีผู้รับดำเนินการตรวจสอบจำนวนมาก แต่อย่าลืมตรวจสอบใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อตรวจสอบระบบไฟฟ้าแล้ว ก็อย่าลืมแจ้งผลการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

นอกจากการตรวจสอบตามที่กำหมายกำหนดแล้ว บางโรงงานอาจจะกำหนดแผนในการตรวจสอบภายใน โดยวิศวกรไฟฟ้าของโรงงานเอง เช่น การตรวจสอบตู้ไฟฟ้าย่อยภายในโรงงาน ว่ามีฝุ่น มีหยากไย่ หรือมีการต่อสายไฟที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้หรือไม่ และเมื่อมีการเดินไฟเพิ่ม หรือมีการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องตรวจดูโหลดของไฟฟ้าที่สามารถรับได้ด้วย เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน ซึ่งการตรวจสอบภายในโดยวิศวกรไฟฟ้าของโรงงานอาจจะกำหนดความถี่เดือนละครั้ง หรือตามความเหมาะสมของแต่ละโรงงาน

 

Engineer under checking

 

สรุป

การตรวจสอบระบบไฟฟ้าในโรงงานตามกฎหมาย ต้องตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยบุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 หรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และเมื่อมีการตรวจสอบแล้วต้องแจ้งผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตรวจสอบ